เดือน: เมษายน 2021

คนนิสัยไม่ดี

ลูซี่ เวอร์สลีย์เป็นนักประวัติศาสตร์และนักจัดรายการโทรทัศน์ชาวอังกฤษ เธอก็เหมือนกับบุคคลสาธารณะส่วนมากที่ได้รับจดหมายหยาบคาย ในกรณีของเธอเป็นเรื่องความบกพร่องด้านการออกเสียงเล็กน้อยที่ทำให้เสียง ร ฟังคล้ายเสียง ว มีคนหนึ่งเขียนมาว่า “ลูซี่ ผมขอพูดตรงๆขอให้คุณปรับปรุงการออกเสียง หรือไม่ก็เอาคำที่มี ร ออกจากบทพูดให้หมด เพราะผมรำคาญจนไม่สามารถทนดูรายการของคุณจนจบได้ ด้วยความนับถือ ดาร์เรน”

สำหรับบางคน การแสดงความคิดเห็นที่ทำร้ายจิตใจแบบนี้อาจกระตุ้นให้เกิดการตอบกลับอย่างหยาบคายพอกัน แต่ลูซี่ตอบสนองว่า “ดาร์เรน ฉันคิดว่าคุณใช้การไม่เปิดเผยตัวตนทางอินเทอร์เน็ตเพื่อพูดในสิ่งที่คุณอาจจะไม่กล้าพูดต่อหน้าฉัน ขอช่วยพิจารณาคำพูดที่ไม่ดีของคุณใหม่ด้วยค่ะ! ลูซี่”

การตอบสนองอย่างมีสติของลูซี่ได้ผล ดาร์เรนขอโทษและสัญญาว่าจะไม่ส่งอีเมลแบบนี้ให้ใครอีก

สุภาษิตบันทึกไว้ว่า “คำตอบอ่อนหวานช่วยละลายความโกรธเกรี้ยวให้หายไป แต่คำกักขฬะเร้าโทสะ” (15:1) ขณะที่คนใจ​ร้อนเร้า​การ​วิวาท แต่คนที่โกรธช้าทำให้ทุกอย่างสงบลง (ข้อ 18) เมื่อเราได้รับคำวิจารณ์จากเพื่อนร่วมงาน คำพูดเหยียดหยามจากคนในครอบครัว หรือคำตอบหยาบคายจากคนแปลกหน้า เราเลือกได้ว่าจะใช้คำพูดรุนแรงที่เติมเชื้อไฟหรือใช้คำพูดสุภาพเพื่อดับไฟ

ขอพระเจ้าทรงช่วยเราให้ใช้คำพูดที่ช่วยละลายความโกรธเกรี้ยว และบางทีคำพูดนั้นอาจช่วยให้คนที่นิสัยไม่ดีนั้นเปลี่ยนแปลง

พระสัญญาของพระเยซูสำหรับคุณ

เจสันร้องไห้ขณะพ่อแม่ส่งตัวเขาให้เอมี่ นั่นเป็นครั้งแรกที่เด็กน้อยวัย 2 ขวบต้องอยู่ในห้องเด็กเล็กขณะที่พ่อกับแม่เข้าร่วมการนมัสการ และเขา ไม่ ชอบเลย เอมี่ยืนยันกับผู้เป็นพ่อแม่ว่าเขาจะอยู่ได้ เธอพยายามปลอบเขาด้วยของเล่นและหนังสือ พาไปนั่งเก้าอี้โยก ไปเดินเล่นรอบๆ ยืนนิ่งๆ และพูดคุยว่าเขาจะทำอะไรสนุกๆได้บ้าง แต่เจสันกลับร้องไห้หนักและดังกว่าเดิม จากนั้นเธอกระซิบคำพูดธรรมดาๆห้าคำที่หูของเขาว่า “ฉันจะอยู่กับเธอ” เจสันสงบและรู้สึกดีขึ้นทันที

พระเยซูตรัสคำปลอบโยนคล้ายกันนี้กับสหายของพระองค์ในสัปดาห์ที่จะทรงถูกตรึง “พระบิดา...จะประทานผู้ช่วยอีกผู้หนึ่งให้แก่ท่านเพื่อจะได้อยู่กับท่านตลอดไปคือพระวิญญาณแห่งความจริง” (ยน.14:16-17) หลังจากที่ทรงเป็นขึ้นจากความตาย พระองค์ประทานพระสัญญาแก่พวกเขาว่า “นี่แหละเราจะอยู่กับเจ้าทั้งหลายเสมอไปจนกว่าจะสิ้นยุค” (มธ. 28:20) พระเยซูจะเสด็จขึ้นสู่สวรรค์ไม่นานหลังจากนั้น แต่พระองค์จะทรงส่งพระวิญญาณมา “อยู่ด้วย” และสถิตในคนของพระองค์

เราสัมผัสถึงการปลอบโยนและสันติสุขของพระวิญญาณได้เมื่อเราร้องไห้ เราได้รับการทรงนำเมื่อเรากำลังสงสัยว่าจะทำอะไรดี (ยน.14:26) พระองค์ทรงเปิดตาเราให้เข้าใจพระเจ้ามากขึ้น (อฟ.1:17-20) และทรงช่วยเมื่อเราอ่อนกำลัง และทรงอธิษฐานเพื่อเรา (รม.8:26-27)

พระองค์ทรงอยู่กับเราเสมอไป

ถูกกักไว้ในความกลัว

ในปี 2020 การระบาดของไวรัสโคโรน่าทำให้โลกตกอยู่ในความหวาดกลัว ประชากรถูกกักตัวเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ มีการปิดประเทศ เที่ยวบินและการจัดงานใหญ่ๆถูกยกเลิก ผู้คนที่อาศัยในเขตที่ยังไม่พบผู้ติดเชื้อพากันกลัวว่าตนอาจจะติดไวรัส เกรแฮม เดวีย์ผู้เชี่ยวชาญเรื่องความวิตกกังวลเชื่อว่า การรายงานข่าวร้าย “มักจะทำให้คุณเศร้าและกังวลมากขึ้น” มีภาพการ์ตูนบนสื่อสังคมออนไลน์เป็นภาพของชายคนหนึ่งกำลังดูข่าวทีวี เขาถามว่าจะเลิกกังวลได้อย่างไร อีกคนในห้องนั้นเอื้อมมือมาปิดทีวี แล้วบอกว่าคำตอบคือให้เปลี่ยนจุดสนใจเสีย!

ลูกา 12 ให้คำแนะนำเพื่อช่วยเราหยุดความกังวลว่า “จงแสวงหาแผ่นดินของพระเจ้า” (ข้อ 31) เราแสวงหาแผ่นดินของพระเจ้าเมื่อเราจดจ่ออยู่กับพระสัญญาที่ว่าผู้ติดตามพระองค์จะได้รับมรดกในแผ่นดินสวรรค์ เมื่อเราพบความลำบาก เราก็สามารถเปลี่ยนจุดสนใจของเรา และระลึกได้ว่าพระเจ้าทรงเห็น และรู้ถึงความต้องการของเรา (ข้อ 24-30)

พระเยซูทรงหนุนใจสาวกของพระองค์ว่า “ฝูง​แกะ​เล็กน้อย​เอ๋ย อย่า​กลัว​เลย เพราะ​ว่า​พระ​บิดา​ของ​ท่าน​ชอบ​พระ​ทัย​จะ​ประทาน​แผ่นดิน​นั้น​ให้แก่​ท่าน” (ข้อ 32) พระเจ้าทรงโปรดที่จะอวยพรเรา! ให้เรานมัสการพระองค์และรู้ว่าทรงห่วงใยเรายิ่งกว่านกในอากาศและดอกไม้ในทุ่งนา (ข้อ 22-29) แม้ในยามยากลำบาก เราสามารถอ่านพระคัมภีร์ อธิษฐานขอสันติสุขจากพระเจ้า และเชื่อวางใจในพระเจ้าผู้ประเสริฐและสัตย์ซื่อ

ดินแข็งและความกรุณาอันอ่อนโยน

ตอนที่เจมส์อายุหกขวบ เดวิดพี่ชายของเขาเสียชีวิตในอุบัติเหตุจากสเก็ตน้ำแข็งเพียงหนึ่งวันก่อนวันเกิดอายุครบสิบสี่ปี หลายปีหลังจากนั้นเจมส์พยายามอย่างมากที่จะปลอบโยนมาร์กาเร็ตมารดาผู้ทุกข์ระทมที่คอยเตือนตนเองว่าลูกชายคนโตของเธอจะไม่ต้องเผชิญกับความท้าทายในการโตเป็นผู้ใหญ่ ความคิดแบบเดียวกันนี้กลายเป็นแรงบันดาลใจให้จินตนาการอันบรรเจิดของเจมส์ แบร์รี่ ในหลายสิบปีต่อมา ก่อให้เกิดตัวละครที่ไม่มีวันแก่ในนิทานยอดนิยมของเด็กชื่อ ปีเตอร์ แพน ดอกไม้งอกขึ้นผ่านบาทวิถีได้ฉันใด สิ่งดีก็งอกงามขึ้นได้จากดินแข็งแห่งจิตใจที่เจ็บปวดเกินจินตนาการฉันนั้น

เราอบอุ่นหัวใจเมื่อคิดว่าพระเจ้าทรงสามารถให้เกิดสิ่งดีได้อย่างสร้างสรรค์ไร้ขีดจำกัดจากเหตุการณ์ที่เลวร้ายที่สุด ตัวอย่างอันงดงามคือเรื่องของนางรูธในพันธสัญญาเดิม นาโอมีสูญเสียลูกชายทั้งสองที่เป็นที่พึ่งไป สะใภ้หม้ายคือ นางรูธ เลือกที่จะอยู่ดูแลนาโอมีและรับใช้พระเจ้าของแม่สามี (นรธ.1:16) ในตอนท้าย การจัดเตรียมของพระเจ้ามอบความสุขยินดีเกินคาดคิดแก่พวกเธอ นางรูธแต่งงานใหม่และมีลูก “เขาตั้งชื่อเด็กคนนั้นว่าโอเบดผู้เป็นบิดาของเจสซีซึ่งเป็นบิดาของดาวิด” (4:17) ชื่อของเขาจะอยู่ในรายชื่อบรรพบุรุษของพระเยซู (มธ.1:5)

พระกรุณาอันอ่อนโยนของพระเจ้าเอื้อมออกมาไกลเกินกว่าที่เราจะเข้าใจและมาพบกับเราในที่แห่งความประหลาดใจ จงคอยเฝ้าดู! คุณอาจจะได้เห็นในวันนี้ JBB

หน้าต่าง

ที่เชิงเขาหิมาลัย นักท่องเที่ยวสังเกตเห็นบ้านที่ไม่มีหน้าต่างตั้งเรียงราย ไกด์นำเที่ยวอธิบายว่าชาวบ้านบางคนกลัวปีศาจจะแอบเข้ามาในบ้านตอนหลับ พวกเขาจึงสร้างเป็นกำแพงทึบ คุณจะบอกได้เลยว่าเจ้าของบ้านหลังไหนมาเชื่อพระเยซูเพราะพวกเขาจะเจาะหน้าต่างเพื่อให้แสงสว่างส่องเข้ามา

เรื่องนี้อาจเกิดกับเราโดยที่เราไม่รู้ตัว เรามีชีวิตอยู่ในยุคที่น่ากลัวและแบ่งฝักแบ่งฝ่ายกัน ซาตานและวิญญาณชั่วยุยงให้โกรธเกรี้ยวไม่ลงรอยกันทำให้ครอบครัวและเพื่อนฝูงแตกแยก ผมมักรู้สึกเหมือนแอบอยู่หลังกำแพงของตนเอง แต่พระเยซูทรงต้องการให้ผมเจาะหน้าต่าง

อิสราเอลแสวงหาที่ลี้ภัยหลังกำแพงสูง แต่พระเจ้าตรัสว่าความมั่นคงของพวกเขาอยู่ในพระองค์ พระองค์ทรงครอบครองจากฟ้าสวรรค์ และพระดำรัสพระองค์กำหนดระบบระเบียบของทุกสรรพสิ่ง (อสย.55:10-11) ถ้าอิสราเอลหันกลับมาหาพระองค์ พระองค์จะทรง “กรุณาเขา” (ข้อ 7) และจะทรงให้พวกเขากลับเป็นประชากรของพระองค์เพื่อเป็นพรแก่โลก (ปฐก.12:1-3) พระองค์จะทรงยกชูเขาขึ้น และนำหน้าพวกเขาไปในขบวนแห่แห่งชัยชนะ การเฉลิมฉลองของพวกเขาจะ “เป็นอนุสรณ์เพื่อเป็นหมายสำคัญนิรันดร์ซึ่งจะไม่ตัดออกเลย” (อสย.55:13)

บางครั้งกำแพงก็เป็นสิ่งจำเป็น แต่กำแพงที่มีหน้าต่างนั้นดีที่สุด เพื่อโลกจะได้เห็นว่าเราวางอนาคตของเราไว้กับพระเจ้า ความกลัวของเรานั้นเป็นเรื่องจริงแต่พระเจ้าทรงยิ่งใหญ่กว่า หน้าต่างเปิดให้เราไปสู่พระเยซูผู้ทรงเป็น “ความสว่างของโลก” (ยน.8:12) และไปสู่ผู้คนที่ต้องการพระองค์

ให้ความเมตตา

เมื่อย้อนคิดถึงการที่เธอให้อภัยมนัสเสห์ ชายผู้ฆ่าสามีและลูกของเธอในเหตุฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในรวันดา เบียทากล่าวว่า “การยกโทษของฉันอยู่บนพื้นฐานของสิ่งที่พระเยซูทรงทำ พระองค์ทรงรับโทษอันเนื่องจากการชั่วทุกอย่างในตลอดนิรันดร์กาล ไม้กางเขนของพระองค์คือที่เพียงแห่งเดียวที่เราจะได้พบกับชัยชนะ!” มนัสเสห์เขียนจดหมายถึงเบียทามากกว่าหนึ่งครั้งจากในเรือนจำ เขาบรรยายถึงฝันร้ายที่ตามรังควานเขาและร้องขอการยกโทษจากเธอและพระเจ้า ตอนแรกเธอไม่สามารถให้ความเมตตาต่อเขาได้ โดยบอกว่าเธอเกลียดที่เขาฆ่าครอบครัวของเธอ แต่แล้ว “พระเยซูทรงทำงานในความคิดของเธอ” และด้วยการทรงช่วยเหลือของพระเจ้า เธอยกโทษให้เขาได้ในเวลาสองปีต่อมา

ในการทำเช่นนี้เบียทาทำตามสิ่งที่พระเยซูสอนสาวกของพระองค์ให้ยกโทษแก่ผู้ที่กลับใจ พระองค์ตรัสว่าแม้พวกเขา “​ผิดต่อท่านวันหนึ่งเจ็ดหนและจะกลับมาหาท่านทั้งเจ็ดหนนั้นแล้วว่า ‘ฉันกลับใจแล้ว’ จงยกโทษให้เขาเถิด” (ลก.17:4) แต่การยกโทษก็อาจเป็นเรื่องยากมาก ดูจากที่สาวกพูดว่า “โปรดให้ความเชื่อของพวกข้าพเจ้ามากยิ่งขึ้น” (ข้อ 5)

ความเชื่อของเบียทาเพิ่มขึ้นขณะเธอปล้ำสู้ในการอธิษฐานถึงการที่เธอไม่สามารถยกโทษได้ หากเรากำลังต่อสู้ในเรื่องการยกโทษเหมือนกับเธอ เราสามารถทูลขอพระเจ้าผ่านองค์พระวิญญาณบริสุทธิ์ให้ทรงช่วยเรา เมื่อความเชื่อของเราเพิ่มพูนขึ้น พระองค์จะทรงช่วยเราให้ยกโทษได้

กิจกรรมแบกภาระหนัก

คาเรนเป็นครูมัธยมที่คิดกิจกรรมหนึ่งขึ้นมาเพื่อสอนนักเรียนให้มีความเข้าใจกันและกันมากขึ้น ใน “กิจกรรมแบกภาระหนัก” นักเรียนเขียนรายการของความหนักใจที่แต่ละคนแบกรับอยู่ จะมีการแบ่งปันข้อความเหล่านี้โดยไม่ระบุชื่อผู้เขียน เพื่อให้นักเรียนเห็นความลำบากของคนอื่น ซึ่งหลายๆเรื่องก็เรียกน้ำตาจากเพื่อนๆ ตั้งแต่นั้นมาห้องเรียนก็เต็มไปด้วยความรู้สึกของการให้เกียรติกันอย่างแท้จริงระหว่างวัยรุ่น ตอนนี้พวกเขารู้สึกเห็นใจกันมากขึ้น

ในตลอดพระคัมภีร์ พระเจ้าทรงเตือนคนของพระองค์ให้ปฏิบัติต่อกันด้วยการให้เกียรติและความเห็นอกเห็นใจ (รม.12:15) ประวัติศาสตร์อิสราเอลช่วงแรกในพระธรรมเลวีนิติ พระเจ้าสอนคนอิสราเอลให้มีความเห็นใจโดยเฉพาะกับคนต่างชาติ พระองค์ตรัสว่า “เจ้าจงรักเขาเหมือนกับรักตัวเอง” เพราะพวกเขาเองก็เคยเป็นคนต่างด้าวในอียิปต์และรู้ซึ้งถึงความลำบากนั้น (ลนต.19:34)

บางครั้งภาระที่แบกอยู่ทำให้เรารู้สึกเหมือนคนต่างชาติ คือโดดเดี่ยวและถูกเข้าใจผิดแม้แต่ในหมู่เพื่อน เราอาจไม่มีประสบการณ์เหมือนกับชาวอิสราเอลที่ได้ทำกับคนต่างชาติท่ามกลางพวกเขา แต่เราสามารถปฏิบัติต่อผู้ที่พระเจ้าทรงนำเข้ามาในเส้นทางชีวิตของเราได้ด้วยการให้เกียรติและเข้าใจเขาเหมือนที่เราปรารถนา ไม่ว่าเราจะเป็นนักเรียนมัธยมสมัยนี้ เป็นชาวอิสราเอล หรือใครก็ตาม เราก็ได้ถวายเกียรติแด่พระเจ้าเมื่อเราทำเช่นนั้น

ดำเนินชีวิตเหมือนในยามเช้า

เมื่อผมต้องโดยสารเครื่องบินข้ามเขตเวลา ผมลองวิธีต่างๆเพื่อไม่ให้มีอาการอ่อนเพลียจากการเดินทางข้ามเขตเวลา และคิดว่าได้ลองทุกวิธีแล้ว! มีอยู่ครั้งหนึ่งผมตัดสินใจปรับการกินอาหารบนเครื่องบินให้ตรงกับเขตเวลาที่ผมจะไป แทนที่จะกินอาหารเย็นพร้อมผู้โดยสารคนอื่น ผมดูหนังและพยายามหลับ ช่วงเวลาที่ตั้งใจอดอาหารนั้นช่างยากเย็น และอาหารเช้าก่อนเครื่องบินลงจอดก็ไม่ค่อยดีเท่าไรนัก แต่การอยู่แบบ “ไม่เหมือน” คนรอบข้างนั้นได้ผล นาฬิกาของร่างกายผมถูกปรับให้เข้ากับเขตเวลาใหม่

เปาโลรู้ว่าถ้าผู้เชื่อในพระเยซูจะสำแดงพระองค์ได้อย่างแท้จริง พวกเขาต้องมีชีวิตที่แตกต่างจากโลกรอบๆตัว เมื่อก่อนพวกเขา “เป็นความมืด” แต่ขณะนี้พวกเขาดำเนินชีวิตอย่าง “ลูกของความสว่าง” (อฟ.5:8) แล้วนั่นหมายถึงอะไร เปาโลพูดต่อเพื่อให้เห็นภาพชัดขึ้นว่า “ด้วยว่าผลของความสว่างนั้น คือความดีทุกอย่างและความชอบธรรมทั้งมวลและความจริงทั้งสิ้น” (ข้อ 9)

การนอนหลับในช่วงมื้อค่ำอาจดูโง่เขลาสำหรับคนอื่นในเที่ยวบิน แม้ว่าตอนนั้นโลกจะเป็นเวลาเที่ยงคืน แต่เราในฐานะผู้เชื่อถูกเรียกให้ดำเนินชีวิตเหมือนในยามเช้า ที่อาจมีคนดูหมิ่นและต่อต้าน แต่ในพระเยซู เรา “ดำเนินชีวิตในความรัก” ได้โดยทำตามแบบอย่างของพระองค์ผู้ “ได้ทรงรักเราทั้งหลาย และทรงประทานพระองค์เองเพื่อเรา ให้เป็นเครื่องถวายและเครื่องบูชาอันเป็นที่โปรดปรานของพระเจ้า” (ข้อ 2)

น้ำตาลไอซิ่งแห่งความเชื่อ

ฉันจูงมือหลานชายกระโดดเล่นผ่านลานจอดรถเพื่อไปหาชุดพิเศษสำหรับใส่ในวันเปิดเทอม หลานวัยเตรียมอนุบาลตื่นเต้นกับทุกอย่าง และฉันตั้งใจที่จะจุดประกายความสุขของเขาให้เป็นความร่าเริงยินดี ฉันเพิ่งเห็นแก้วกาแฟที่มีข้อความว่า “ยายคือแม่ที่มีน้ำตาลไอซิ่งเยอะๆ” น้ำตาลไอซิ่งคือความสนุกความสดใสและความร่าเริงยินดี! นั่นคือหน้าที่ของฉันในฐานะยาย ใช่ไหมใช่แล้ว...และยังมีมากกว่านั้นอีก

ในจดหมายฉบับที่สองของเปาโลถึงลูกฝ่ายวิญญาณคือทิโมธี ท่านระลึกถึงความเชื่อที่จริงใจของทิโมธีและชมเชยทั้งโลอิสยายของเขาและยูนีสผู้เป็นแม่ (2 ทธ.1:5) ทั้งสองดำเนินชีวิตตามความเชื่อซึ่งทำให้ทิโมธีได้มาเชื่อในพระเยซูเช่นกัน แน่นอนว่าโลอิสและยูนีสรักทิโมธีและจัดหาสิ่งจำเป็นให้ แต่พวกท่านทำมากกว่านั้น เปาโลชี้ให้เห็นถึงความเชื่อที่มีอยู่ในท่านทั้งสองอันเป็นที่มาของความเชื่อในทิโมธีด้วย

หน้าที่ของฉันในฐานะยายนั้นรวมถึงการเป็น “น้ำตาลไอซิ่ง” สำหรับเรื่องชุดไปโรงเรียน แต่ยิ่งไปกว่านั้น ฉันถูกเรียกให้เป็นน้ำตาลไอซิ่งเมื่อฉันแบ่งปันความเชื่อด้วยการก้มศีรษะอธิษฐานก่อนกินนักเก็ตไก่ เมื่อสังเกตดูเมฆรูปนางฟ้าที่เป็นผลงานศิลปะของพระเจ้า เมื่อร้องเจื้อยแจ้วไปกับเพลงพระเยซูในรายการวิทยุ ให้เราดูและทำตามอย่างแม่และยายแบบยูนีสและโลอิส ที่ทำให้ความเชื่อกลายเป็นน้ำตาลไอซิ่งในชีวิต เพื่อที่ผู้อื่นจะอยากได้ในสิ่งที่เรามี

เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ หากท่านใช้บริการเว็บไซต์นี้ต่อไป นั่นเป็นการแสดงว่าท่านยอมรับ นโยบายการใช้คุกกี้ของเรา